สมมติฐานที่มาโมเลกุลของฟอสฟีนบนดาวศุกร์ ที่อาจบ่งชี้ว่ามีสิ่งมีชีวิต


ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cardiff University นำโดย Jane Greaves ได้ประกาศการค้นพบสำคัญบนดาวศุกร์เมื่อคืนวันที่ 14 กันยายน 2020 เวลา 22.00 ตามเวลาประเทศไทย โดยเป็นการค้นพบโมเลกุลฟอสฟีน ซึ่งโมเลกุลนี้ เป็นแก๊สที่มีแหล่งกำเนิดเพียง 2 แหล่งเท่านั้นบนโลก คือเกิดจากอุตสาหกรรม และ เกิดจากสิ่งมีชีวิต ทำให้การค้นพบโมเลกุลฟอสฟีนบนดาวศุกร์ครั้งนี้ อาจเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่า ครั้งหนึ่งนั้น เคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวศุกร์

โดย William Bains นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้ทำการจำลองกลไกการเกิดฟอสฟีนบนดาวศุกร์ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านแสงแดด รังสีจากดวงอาทิตย์ ชั้นบรรยากาศ หรือภูเขาไฟที่พื้นผิว ซึ่งทีมได้พยายามวิเคราะห์และคำนวนหาที่มาของแก๊สฟอสฟีนที่ไม่ใช่จากสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ แต่ก็ไม่สามารถหาคำอธิบายที่เหมาะสมได้เลย

และนี่คือสมมติฐานและทฤษฏีที่อาจเป็นไปได้ ที่ทีมงาน Walkki ได้รวบรวมมาให้คุณผู้อ่านกันครับ

1.เกิดจากสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์

ดาวศุกร์นั้นอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก หนึ่งในหลายๆทฤษฏีนั้น บอกว่า ครั้งหนึ่งนั้น ดาวศุกร์เคยมีมหาสมุทร มีชั้นบรรยากาศ จนกระทั่งเกิดการปะทุของดวงอาทิตย์ ที่ได้เผาชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์และดาวอังคารไป นอกจากนี้ ยังมีทฤษฏีอื่นๆอื่นมากมายที่สนับสนุนว่า ดาวศุกร์อาจจะเคยมีชั้นบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต

นอกจากนี้ ปัจจุบันนี้ แม้ว่าอุณหภูมิพื้นผิวของดาวศุกร์นั้นจะสูงถึง 400 องศาเซลเซียส แต่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้น อุณหภูมิเพียงแค่ 30 องศา พอๆกับโลกมนุษย์ ซึ่งเหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิต และถ้าหากมีสิ่งมีชีวิตจริง ต้องเป็นสิ่งมีชีวิตที่ลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ และดูดซับรังสีเป็นพลังงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามหลักฐานที่มี โดยที่ยังมีปริศนาอีกหลายอย่างอยู่นอกเหนือความเข้าใจของมนุษย์และรอการค้นคว้าต่อไป

2.เกิดจากการปนเปื้อนของวัตถุจากโลก เช่น ยานดาวเทียมสำรวจ

มนุษย์นั้นส่งยานดาวเทียมสำรวจดาวศุกร์ตั้งแต่ปี 1960 ถึงปี 2010 จำนวนถึง 42 โครงการ ทั้งจาก NASA ของสหรัฐฯ , รัสเซีย , สหภาพยุโรป , ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการปนเปื้อนของโมเลกุลฟอสฟีนนี้ติดไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อสมมติฐานนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะโครงการสำรวจอวกาศของแต่ละชาติที่ส่งยานของตัวเองไปทำภารกิจในแต่ละที่นั้น จะคำนึงถึงการปนเปื้อนมากที่สุด และการเดินทางไปดาวศุกร์นั้น ต้องใช้เวลาเป็นปี ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะมีโมเลกุลฟอสฟีนนี้ติดไปด้วย

3.เกิดจากกระบวนการพิเศษ ที่มนุษย์ยังศึกษาไปไม่ถึง

อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือ แม้ว่าเราจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์และโครงสร้างทางเคมีบนโลกมนุษย์ได้แทบทั้งหมดแล้ว แต่หากเทียบกับความกว้างใหญ่ของจักรวาลแล้ว ยังถือว่าอีกไกล และการค้นพบฟอสฟีนบนดาวศุกร์โดยที่เราไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเกิดจากอะไรนอกจากสิ่งมีชีวิตนั้น อาจจะเพราะว่าความรู้ทางเคมีอวกาศของมนุษยชาตินั้นยังไปได้ไม่ไกลพอ ทำให้เรายังไม่สามารถเข้าใจกลไกและการเกิดของแก๊สชนิดนี้ได้

สรุป

จักรวาลและอวกาศนั้น มีความลึกลับและปริศนาที่รอการค้นหาอยู่อีกมากมาย มนุษย์มาจากไหน? จักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร? ปรากฏการณ์ต่างๆเกิดขึ้นได้ยังไง? และคำถามสำคัญที่สุดที่เชื่อว่ามนุษย์แทบทุกคนน่าจะเคยถามตัวเอง.. มนุษย์เป็นเพียงเผ่าพันธุ์เดียวในจักรวาลหรือไม่? การค้นคว้าวิจัยของนักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาตร์แขนงต่างๆที่เกี่ยวข้องนั้น ได้ให้องค์ความรู้ใหม่ๆแก่มนุษย์ตลอด และนี่คือสิ่งที่น่าตื่นเต้นว่า วันหนึ่งข้างหน้า มนุษย์เราจะพบคำตอบของคำถามเหล่านั้นได้เมื่อไหร่..